Thai Window Film

รู้จักฟิล์มกรองแสง

 

เท่าที่ได้รับฟังจากการเลือกซื้อฟิล์มกรองแสง พบว่า ส่วนหนึ่งของผู้ซื้อยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับฟิล์มกรองแสง โดยเฉพาะความเข้าใจระหว่างความทึบแสงกับความสามารถในการป้องกันความร้อน ความเข้าใจที่ว่า ฟิล์มที่มีสีเข้มหรือทึบ ช่วยลดความร้อนได้ดี ในความจริงแล้ว สีหรือความทึบของฟิล์มกรองแสงไม่ได้เป็นตัวช่วยลดความร้อน แต่กลับเป็นสารเคลือบตัวอื่นๆ ที่ทำหน้าที่หลักนี้ต่างหาก ลองมาดูว่าส่วนประกอบจากความร้อนที่เราได้รับมีอะไรบ้าง
โดยส่วนประกอบของความร้อนที่เราได้รับนั้นมีสัดส่วนและแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ความสว่างของแสง(Visible Light) มีสัดส่วน 44% รังสีอินฟาเรด(รังสีใต้แดง – Infrared) มีอยู่ 53% รังสียูวี(รังสีเหนือม่วง, รังสีอุลตร้าไวโอเลต – Ultra violet หรือ UV) มีอยู่ 3% ดังนั้นฟิล์มกรองแสงที่สามารถลดความร้อนได้ดีควรจะลดรังสีทั้ง 3 ส่วนได้มากๆ ตัวอย่างเช่น หากท่านติดฟิล์มกรองแสงที่มีความทึบแสงมากๆ แต่ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ เป็นประเภทฟิล์มย้อมสีหรือเป็นฟิล์มกรองแสงที่ไม่ได้มีส่วนผสมของโลหะหรือสารพิเศษใดๆ ท่านจะรู้สึกถึงความร้อนที่ผ่านชั้นผิวของฟิล์มกรองแสงเข้ามา นั่นก็คือฟิล์มกรองแสงนั้นๆสามารถลดได้แค่ช่วงความสว่างของแสงที่มีสัดส่วนอยู่ 44% แต่รังสีอินฟาเรดยังสามารถผ่านทะลุเข้ามาได้จนรู้สึกถึงความร้อน ในทางกลับกันหากท่านติดฟิล์มกรองแสงที่มีส่วนผสมพิเศษไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมของโลหะหรืออื่นๆ แต่ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ มีค่าความทึบแสงน้อย(แสงส่องผ่านเข้าไปได้เยอะ) ท่านก็จะรู้สึกถึงความร้อนจากความสว่างของแสงที่ส่องผ่านฟิล์มกรองแสงเข้ามา ส่วนรังสียูวีนั้นเป็นส่วนประกอบน้อยมากของความร้อน (3%) ซึ่งฟิล์มกรองแสงเกือบทั้งหมดสามารถลดรังสียูวีได้มากกว่า 95% อยู่แล้ว

ประเภทของฟิล์มกรองแสง

ฟิล์มกรองแสง ผลิตจากแผ่นโพลีเอสเตอร์ที่มีความเหนียว บาง เรียบ สามารถแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับกระจก โดยยึดกับกระจกด้วยกาวที่มีความใส ดังนั้น เราจึงมองผ่านฟิล์มกรองแสงได้ชัดเจน ณ ปัจจุบันสามารถแบ่งโครงสร้างฟิล์มกรองแสงได้ดังนี้

ฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดา

ฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดา

ฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดา(ไม่มีส่วนผสมของโลหะหรือสารพิเศษอื่นๆ) โดยฟิล์มกรองแสงชนิดนี้ก็จะมีชนิดย่อยตามการผลิตอีกคือ

  1. ฟิล์มกรองแสงประเภทสีผสมในกาว (Glue Tine Non-reflective)
  2. ฟิล์มกรองแสงประเภทย้อมสี (Deep Dye Non-reflective)
  3. ฟิล์มกรองแสงประเภทสีอยู่บนเนื้อฟิล์ม (Chip Dyed Non-reflective)

ซึ่งฟิล์มกรองแสงแต่ละชนิดเป็นเทคนิคในการผลิตซึ่งแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติทางด้านอายุการใช้งานและราคาที่แตกต่างกัน แต่ในส่วนคุณสมบัติอื่น เช่น การลดความร้อนไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก

สรุป ในส่วนของฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดาจะได้ดังนี้ คือ
  • ระดับราคาจากถูกไปหาแพง – ฟิล์มกรองแสงประเภทสีผสมในกาว (Glue Tine Non-reflective) – ฟิล์มกรองแสงประเภทย้อมสี (Deep Dye Non-reflective) – ฟิล์มกรองแสงประเภทสีอยู่ในเนื้อฟิล์ม (Chip Dyed Non-reflective)
  • อายุการใช้งานของฟิล์มกรองแสงจากมากไปหาน้อย ฟิล์มกรองแสงประเภทสีอยู่ในเนื้อฟิล์ม (Chip Dyed Non-reflective) – ฟิล์มกรองแสงประเภทย้อมสี (Deep Dye Non-reflective) – ฟิล์มกรองแสงประเภทสีผสมในกาว (Glue Tine Non-reflective)

ฟิล์มกรองแสงชนิดเคลือบโลหะ

ฟิล์มเคลือบโลหะ

ฟิล์มเคลือบโลหะ โดยแผ่นโลหะนี้จะถูกนำไปประกบหรือรวมกับฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดา โดยแผ่นโลหะจะมีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันรังสีอินฟาเรด โดยใช้หลักการในการสะท้อนออก  ทำให้ฟิล์มกรองแสงประเภทนี้สามารถลดความร้อนได้เพิ่มมากขึ้นตามความเงาของเนื้อฟิล์ม  ซึ่งก็สามารถแบ่งได้เป็นชนิดโครงสร้างหลักๆ ได้ดังนี้คือ

  1. ฟิล์มกรองแสงประเภทสีผสมในกาว + โลหะ (Glue Tint Reflective)
  2. ฟิล์มกรองแสงประเภทย้อมสี + โลหะ (Deep Dyed Reflective)
  3. ฟิล์มกรองแสงประเภทสีอยู่บนเนื้อฟิล์ม + โลหะ (Chip Dyed Reflective)
  4. ฟิล์มเคลือบอนุภาคโลหะ (Sputtering)
สรุป ในส่วนของฟิล์มกรองแสงชนิดเคลือบโลหะจะได้ดังนี้คือ
  • ระดับราคาจากถูกไปหาแพง 1 – 2 – 3 – 4
  • อายุการใช้งานของฟิล์มกรองแสงจากมากไปหาน้อย 4 – 3 – 2 – 1

ฟิล์มกรองแสงชนิดเคลือบสารพิเศษ

โดยสารพิเศษนี้จะเป็นสารที่สามารถป้องกันรังสีอินฟาเรดได้ดีกว่าปกติ ซึ่งฟิล์มกรองแสงประเภทนี้มีราคาสูงกว่าฟิล์มกรองแสงชนิดเคลือบโลหะ โดยสารที่เคลือบเข้าไปนั้นจะนิยมใช้สารเคลือบดังมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

  1. ITO หรือ Indium Tint Oxide
  2. Ceramic
  3. Carbon

เป็นต้น

โดยสารที่ทำการเคลือบเข้าจะเป็นตัวช่วยในการดูดซับความร้อนไว้ที่เนื้อฟิล์มกรองแสง ทำให้เนื้อฟิล์มไม่เงา ไม่รบกวนการทำงานของคลื่นการสื่อสาร เช่น GPS, 3G, Wifi รวมถึงคลื่นวิทยุต่างๆ ปัจจุบัน (2018) ฟิล์มกรองแสงในกลุ่มนี้ กำลังเป็นที่นิยมและมีราคาไม่แพงจนเกินไปเหมือนในอดีต

ฟิล์มนิรภัย

ฟิล์มนิรภัย

เป็นฟิล์มกรองแสงที่มีความหนาของเนื้อฟิล์มตั้งแต่ 4 MIL ขึ้นไป (1 MIL = 1 / 1000 นิ้ว) มีคุณสมบัติในการยึดเกาะกระจกได้ดี เหมาะสำหรับในอาคารสูง และในกรณีที่มีความหนาของเนื้อฟิล์มมากๆ สามารถใช้ในการป้องกันการโจรกรรมรวมถึงป้องกันกระสุน(ขึ้นอยู่กับความหนาของเนื้อฟิล์มและกระจก)

ฟิล์มกรองแสงสำหรับรถยนต์


เมืองไทยเป็นเมืองร้อน กว่า 90% ของผู้ใช้รถยนต์ สิ่งแรกที่เจ้าของรถต้องติดตั้งเพิ่มเติม คือ ฟิล์มกรองแสง การเลือกฟิล์มกรองแสง สำหรับรถยนต์ โดยทั่วไปแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็น แต่จะให้ประหยัดและคุ้มค่า ควรมีความเข้าใจพื้นฐาน ของระบบการทำงาน ของฟิล์มกรองแสง ซึ่งอาจจะช่วยให้ท่าน นำไปตัดสินใจได้ว่า จะเลือกอย่างไร จึงสมเหตุสมผล ก่อนอื่นมาดูจุดประสงค์ของการติดตั้งฟิล์มกรองแสงก่อน อันดับแรก คือ กันความร้อน สู่ห้องโดยสาร ผลพลอยได้ที่ตามมา คือ ช่วยประหยัดพลังงานที่ใช้ทำความเย็น ช่วยยืดอายุของชิ้นส่วนภายใน เช่น คอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ต่อมาคือเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ต้องยอมรับว่าฟิล์มกรองแสงที่มีความทึบ สามารถพรางภายในรถ ไม่ให้คนภายนอกมองเข้าไปภายในได้โดยเฉพาะสุภาพสตรี นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยเมื่ออุบัติเหตุ เช่น กรณีเศษกระจกที่แตกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ฟิล์มกรองแสงที่ดีจะช่วยยึดกระจกไม่ให้แตกกระจาย ที่เหลือเป็นเรื่องของความสวยงาม เพราะมีฟิล์มแบบแฟชั่นที่ให้ความสวยงามกับรถยนต์ได้ด้วย ยังไม่นับในเรื่องอื่นๆ เช่น ความเป็นส่วนตัว หรือการเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน โดยสรุปประโยชน์ที่จะได้รับในการติดตั้งฟิล์มกรองแสงก็คือ

  1. การลดความร้อน ซึ่งฟิล์มกรองแสงที่ดีสามารถลดอุณหภูมิภายในรถลงได้กว่า 60%
  2. ป้องกันผิวหนังและดวงตา โดยการติดฟิล์มกรองแสงสามารถลดรังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือยูวีได้กว่า 99% ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก
  3. ลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ฟิล์มกรองแสงที่ดีจะสามารถยึดกระจกไม่ให้แตกกระจายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ปลอดภัยจากความคมของเศษกระจก หรือเศษจากกระจกนิรภัย กระเด็นเข้าตา
  4. เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ การติดฟิล์มกรองแสงสามารถลดแสงจ้าจากดวงอาทิตย์, แสงไฟจากรถที่วิ่งสวนทาง ทำให้ช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับขี่ที่ดีขึ้น
  5. สร้างความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย การติดฟิล์มกรองแสงที่มีความทึบแสงจะช่วยบดบังผู้ประสงค์ร้ายภายนอก และบดบังทรัพย์สินภายใน
  6. การติดฟิล์มกรองแสงจะช่วยปกป้องรถคุณ ไม่ให้อุปกรณ์ภายในรถไม่ว่าจะเป็นแผงหน้าปัด, คอนโซน, พวงมาลัย ฯลฯ ซีดจางและแตกร้าวเร็ว
  7. ประหยัดพลังงาน การติดฟิล์มกรองแสงที่ดีสามารถช่วยประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อนได้ โดยการป้องกันความร้อนที่เข้ามาในตัวรถ ทำให้ระบบปรับความเย็นในรถ ทำงานน้อยลงจึงเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงค่าดูแลรักษาระบบปรับความเย็นอีกด้วย

เทคนิคการเลือกฟิล์มกรองแสงสำหรับติดรถยนต์

  • ถ้าคุณขับรถเฉพาะช่วงกลางคืน / ขับกลางคืนบ่อย หรือมีปัญหาเรื่องสายตา เราแนะนำให้ติดเป็นฟิล์มใสลดความร้อน
  • ถ้าคุณต้องการความเป็นส่วนตัว ชอบฟิล์มสีทึบ และไม่มีปัญหาเรื่องสายตา สามารถเลือกฟิล์มสีทึบ จะเคลือบโลหะหรือเป็นฟิล์มเคลือบสารพิเศษก็ได้
  • ถ้าคุณต้องใช้อินเตอร์เน็ตจากมือถือ หรือต้องใช้ระบบ GPS ในการนำทาง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟิล์มที่มีส่วนผสมของโลหะ
  • ถ้ากระจกรถของคุณมีสีค่อนข้างทึบจากโรงงานผู้ผลิต หรือต้องการที่จะโชว์วัสดุอุปกรณ์ในการแต่งภายในรถ เราแนะนำให้ใช้ฟิล์มใสลดความร้อน เป็นต้น
ฟิล์มกรองแสงสำหรับอาคาร

  1. การป้องกันภัยจากเศษกระจก โดยใช้ฟิล์มนิรภัย (Safety Film) คือ ในอาคารสูง ฟิล์มนิรภัยจะช่วยยึดกระจกไม่ให้หลุดร่วงลงมาทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในอาคาร, ที่พักอาศัย เศษกระจกอาจทำอันตรายกับคนที่คุณรักได้ การติดฟิล์มนิรภัยยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับอีกคือ ในฟิล์มนิรภัยบางรุ่นมีการเคลือบสารหรือโลหะที่ช่วยในการลดความร้อนจากแสงแดดอยู่ด้วย ฟิล์มกรองแสงสามารถลดรังสีอุลตร้าไวโอเลตหรือรังสียูวีได้กว่า 99% ซึ่งช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก ชะลอการซีดจางของอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในอาคาร, ที่พักอาศัยในระดับที่มีความหนาของเนื้อฟิล์มมากๆ จะสามารถใช้ป้องกันภัยจากกระสุนปืนหรือระเบิดรวมถึงการป้องกันการโจรกรรมได้
  2. การป้องกันความร้อน, ประหยัดพลังงาน (Building Film) คือ การติดฟิล์มกรองแสงเพื่อลดความร้อนจากภายนอก เป็นการประหยัดพลังงานโดยตรง ปัจจุบันมีการกำหนดเรื่องการประหยัดพลังงานโดยติดฉลากเบอร์ 5 สำหรับฟิล์มกรองแสงที่มีค่า SHGC ไม่เกิน 0.45 และมีประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับคือ
    • ฟิล์มกรองแสงสามารถลดรังสีอุลตร้าไวโอเลตหรือรังสียูวีได้กว่า 99% ซึ่งช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก
    • ฟิล์มกรองแสงสามารถชะลอการซีดจางของอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในอาคาร, ที่พักอาศัย
    • ฟิล์มกรองแสงสามารถสร้างความสวยงามภายนอกและไม่บดบังทัศนวิสัยในการมองจากภายใน สร้างความเป็นส่วนตัวจากภายนอก
    • ฟิล์มกรองแสงสามารถลดแสงจ้าจากภายนอก ทำให้รู้สึกสบายสายตา
  3. การติดฟิล์มกรองแสงเพื่อตกแต่ง (Decorative Film) ฟิล์มกรองแสงสามารถติดตั้งเป็นลวดลายต่างๆ หรือจะเป็นฟิล์มที่มีลวดลายหรือสีสันต่างๆ อยู่ในตัว เพื่อความสวยงาม รวมถึงประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่นการลดรังสีอุลตร้าไวโอเลต หรือสร้างความเป็นส่วนตัว

เทคนิคการเลือกฟิล์มกรองแสงสำหรับติดอาคาร

ข้อแนะนำในการเลือกสินค้า

  • หากต้องการรักษาความปลอดภัยจากเศษกระจกอย่างเดียวควรเลือกฟิล์มนิรภัย
  • หากต้องการรักษาความปลอดภัยจากเศษกระจกและลดความร้อนควรเลือกฟิล์มนิรภัยที่มีส่วนผสมของโลหะ, สารพิเศษ หรือติดตั้งฟิล์มลดความร้อนทับอีกชั้น (ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ)
  • หากต้องการลดความร้อนอย่างเดียวควรเลือกฟิล์มสำหรับติดอาคารโดยเฉพาะ  (Building Films) โดยพิจารณาถึง
    1. ระดับความเข้มของฟิล์มตามต้องการ หากเป็นโชว์รูมหรือสำนักงานที่ต้องการโชว์ภายในแต่ต้องการฟิล์มกรองแสงที่สามารถลดความร้อนได้สูงแต่ต้องมีความใสหรือแสงส่องผ่านได้เยอะ ควรเลือกประเภทฟิล์มใสลดความร้อน
    2. การสะท้อนแสง หากไม่ติดขัดเรื่องการสะท้อนแสงภายนอก ควรเลือกฟิล์มที่มีค่าการสะท้อนแสงสูง เนื่องจากสามารถสะท้อนความร้อนออกมาได้มาก ในงบประมาณที่คุ้มมากที่สุด
    3. โครงสร้างของฟิล์มกรองแสง โดยถ้าเป็นโครงสร้างชนิดสีผสมกาว หรือใช้คุณภาพของวัตถุดิบที่มีคุณภาพต่ำ ฟิล์มกรองแสงก็จะมีอายุการใช้งานที่สั้นลง
    4. แหล่งที่มา เช่น ประเทศผู้ผลิต เป็นต้น

*ควรระมัดระวังเรื่องค่าการดูดซับความร้อน (Solar Absorption) เนื่องจากจะทำให้กระจกเกิดการแตกร้าวได้เอง

สิ่งที่น่ารู้เกี่ยวกับการติดตั้งฟิล์มอาคาร

  • ฟิล์มกรองแสงส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษทางด้านการมองเห็น เช่น ในช่วงกลางวันหากเรามองจากภายนอกจะมองไม่เห็นภายในหรือเห็นแค่ลางๆ (ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มของฟิล์ม) แต่ในช่วงกลางคืนหากเปิดไฟภายในเมื่อมองจากภายนอกจะสามารถมองเห็นภายในได้ คือ ด้านที่มืดกว่าจะสามารถมองเห็นด้านที่สว่างกว่าได้
  • การติดฟิล์มนิรภัยมีส่วนช่วยให้การแตกตัวของกระจกลดน้อยลงบ้าง แต่ในกระจกบางประเภทหากติดฟิล์มที่มีสีเข้มเข้าไป หรือเคลือบสารในการดูดซับความร้อนไว้สูง จะเป็นตัวเพิ่มอัตราการแตกของกระจกมากขึ้น เกิดจากความร้อนที่สะสมอยู่ที่ฟิล์มและกระจกนั่นเอง
  • ฟิล์มบางชนิดบางยี่ห้อเป็นฟิล์มชนิดย้อมสีหรือสีในกาว เมื่อนำไปติดที่กระจกอาคารโดยเฉพาะด้านที่ถูกแสงแดดมากๆ จะมีการซีดจางของเนื้อฟิล์มเร็ว ควรพิจารณาก่อนในการตัดสินใจติดตั้ง

ฟิล์มกรองแสง กับกฎหมายด้านความเข้ม

ณ ปัจจุบันนี้ไม่มีกฎหมายควบคุมความเข้มของฟิล์มกรองแสงรถยนต์ คิดในแง่ดีเราได้รับความปลอดภัยจากการมองเห็นจากบุคคลภายนอก แต่ในแง่ร้าย มีคนที่ใช้ประโยชน์จากการแอบแฝงตัวเพื่อก่ออาชญากรรมโดยรถยนต์ แต่เรื่องนี้ก็เป็นมุมมอง 2 ด้าน ซึ่งในทางกฎหมายจริงๆแล้วที่กระจกบานหน้าสามารถติดฟิล์มกรองแสงหรือสติ๊กเกอร์เพื่อป้องกันแสงแดดได้ไม่เกินเศษ 1 ส่วน 4 ของกระจก แต่สืบเนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อน ทางเจ้าหน้าที่จะเข้าใจและอนุโลมให้ติดตั้ง ฟิล์มกรองแสง แบบเต็มบานได้ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะใช้ดุลยพินิจ เช่น ติดฟิล์มกรองแสง แบบเต็มบานแต่ใช้ ฟิล์มกรองแสง ที่มีความทึบมากจนเกินไป เป็นต้น ดังนั้นฟิล์มกรองแสงแบบบานหน้าเต็มบานควรเลือกใช้ฟิล์มกรองแสงที่ไม่ทึบแสงมากและไม่ควรสะท้อนแสงจนเกินไป

ฟิล์มกรองแสง กับกฎหมายว่าด้วยเรื่องปรอทหรือการสะท้อนแสง

การสะท้อนแสงของ ฟิล์มกรองแสง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ผู้บริโภคหลายท่านต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลอกและติดตั้ง ฟิล์มกรองแสง กันมาบ้าง ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการสะท้อนแสงของฟิล์มกรองแสงว่าควรจะสะท้อนไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับทางเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้มีความพร้อมทางด้านเครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำการวัดค่าการสะท้อนของฟิล์มกรองแสง ตรงนี้เองทำให้เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก ซึ่งจริงๆแล้วการสะท้อนแสงนั้น หากท่านสังเกตรถยนต์ที่ไม่ได้ติดตั้ง ฟิล์มกรองแสง เช่น รถแท็กซี่ ในบางเวลาที่แสงแดดทำมุมกับกระจก ก็สามารถสะท้อนเข้าตา รบกวนผู้อื่นได้อยู่แล้ว ดังนั้น ฟิล์มกรองแสงที่มีความสะท้อนของโลหะ ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักของการสะท้อนแสง แต่ก็มีรถยนต์ บางคัน นำฟิล์มกรองแสงบางประเภทซึ่งใช้สำหรับในการติดตั้งอาคาร ซึ่งฟิล์มกรองแสงประเภทนี้จะมีค่าการสะท้อนแสงสูงมาติดตั้งในรถยนต์ ซึ่งก็แล้วแต่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในเรื่องของดุลยพินิจของการสะท้อนแสงนี้ รวมถึงเรื่อง กันชน กรอบป้ายทะเบียนหรืออุปกรณ์อื่นใดที่ติดตั้งบนตัวรถแล้วรบกวนการมองเห็นของผู้อื่น ทางเจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจในส่วนนี้ได้ในการจับกุม

การเลือกติดตั้งฟิล์มกรองแสง

สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ฟิล์มกรองแสงจะต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง ซึ่งก็มีข้อสังเกตและควรพิจารณาด้วยกันหลายประการ
สิ่งที่น่าจะต้องพิจารณาอันดับแรก ก็คือ ให้ตรวจสอบดูว่าฟิล์มกรองแสงที่ทางร้านค้านำมาติดตั้งนั้น ยี่ห้อตรงกับที่เราเลือกไว้หรือไม่ ซึ่งยี่ห้อนั้นแสดงถึงความมีมาตรฐานของผู้ประกอบการ เดี๋ยวนี้ฟิล์มกรองแสงมักจะมีระบบปริ๊นซ์โลโก้ที่เนื้อฟิล์ม ซึ่งจะมีโลโก้สินค้าแสดงอยู่ โดยมีทั้งปริ๊นซ์ 1 – 2 – 3 และมากที่สุด 4 จุด ซึ่งการปริ๊นซ์ยิ่งมากจุด ยิ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้ฟิล์มกรองแสงยี่ห้อที่ได้เลือกติดตั้งแท้ๆ ซึ่งสามารถมองได้ถึง ความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงประสบการณ์ในการทำธุรกิจนี้ว่ามีมานานแค่ไหน ไม่ได้มีการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งบางครั้งเราจะเห็นผู้ประกอบการบางรายเข้ามาทำตลาด แล้วในช่วงระยะแรกหากทำตลาดไม่ดี ก็ปิดบริษัท ล้มยี่ห้อ จากนั้นก็ไปเปิดในชื่อใหม่ และเปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ บางบริษัทก็ใช้การโฆษณาเกินความเป็นจริง บางที่ก็ใช้งบโฆษณาที่สูงโดยคุณภาพของสินค้าไม่ได้เหมาะสมกับราคา เช่น ลดความร้อนได้น้อยแต่ราคาแพงมากกว่าฟิล์มกรองแสงที่ราคาถูกๆ ทั่วไปเป็นต้น

เลือกรับประกัน

การรับประกันคุณภาพเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่ในการตัดสินใจ โดยทั่วไปแล้วฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์จะมีการรับประกันคุณภาพไม่ต่ำกว่า 5 ปี บางราย 7 หรือ 10 ปี หรือบางครั้งก็รับประกันตลอดอายุการใช้งานก็มี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ซึ่งเงื่อนไขการรับประกันนี้จะหมดไปหากมีการเปลี่ยนมือของการเป็นเจ้าของรถหรือไม่สามารถเก็บใบรับประกันมายืนยันตอนเคลมสินค้า ซึ่งตรงนี้ผู้บริโภคควรรักษาสิทธิ์ให้ดี

เลือกร้านติดตั้ง

ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายก็มีส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณาประกอบ ทุกวันนี้ฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์จะขายผ่านร้านประดับยนต์ ร้านติดตั้งเครื่องเสียง ซึ่งร้านเหล่านี้จะมีทั้งที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้จำหน่ายโดยตรง กับไม่ได้รับการแต่งตั้ง ร้านที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจะนำฟิล์มเข้ามาจำหน่ายเอง ซึ่งก็เสี่ยงต่อฟิล์มคุณภาพต่ำ บางแห่งก็เสนอฟิล์มแบบมียี่ห้อ ให้ดู พอตอนติดตั้งแอบไปเอาฟิล์มอะไรไม่รู้มาติดรถ อย่างนี้ก็มี เราสามารถพิจารณาได้ว่าร้านใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายหรือไม่ โดยสังเกตจากป้ายหน้าร้าน หรือใบที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือใบรับประกันสินค้า หรือถ้าต้องการความมั่นใจโทรศัพท์สอบถามจากผู้นำเข้าโดยตรง

ฝีมือช่างต้องชำนาญ


การติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์หากได้ฟิล์มคุณภาพ แต่หากช่างที่ติดตั้งไม่มีฝีมือก็ไร้ประโยชน์ การติดฟิล์มกรองแสงนั้น นอกจากคุณภาพของฟิล์มแล้ว หากต้องการให้ฟิล์มอยู่คงทนนานต้องขึ้นอยู่ที่ฝีมือของช่างคนนั้นด้วยช่างที่ติดฟิล์มกรองแสงจะต้องมีฝีมือในการกรีดฟิล์ม เพราะหากมือไม่ดีพอ เวลาที่กรีดฟิล์มลงสู่กระจกจะทำให้ฟิล์มนั้นไม่เสมอกัน โดยเฉพาะตรงขอบกระจก และถ้าเลวร้ายไปกว่านั้น บางครั้งอาจกรีดโดนกระจกรถยนต์ และทำให้เป็นรอยได้ และยังรวมถึงความระมัดระวังในเรื่องอื่นๆ เช่น การทำความสะอาดกระจก การระมัดระวังเรื่องฝุ่น ซึ่งเรื่องฝุ่นนี้จะมีได้บ้างตามขอบกระจกซึ่งไม่รบกวนสายตาของผู้ขับขี่

แหล่งผลิตสินค้า

ปัจจุบัน โรงงานที่ทำการผลิตฟิล์มกรองแสง เท่าที่สืบค้นข้อมูลได้ จะมีแหล่งผลิตอยู่ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิสราเอล อินเดีย ไต้หวัน และประเทศจีน ดังนั้นการเลือกสินค้าควรพิจารณาถึงต้นกำเนิดของสินค้าด้วย เพราะจะมีผลต่ออายุการใช้งานของฟิล์มเป็นอย่างมาก และส่วนมากผู้จำหน่ายจะอ้างอิงว่าสินค้าผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพในด้านความคงทนมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

รู้ทันเทคนิคการขายฟิล์ม

ในกรณีที่ร้านค้าบางร้าน มีการสาธิตหรือทดสอบคุณภาพของฟิล์มให้ดู เราควรพิจารณาถึงวิธีการทดสอบคุณภาพของฟิล์มด้วยว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น การทดสอบฟิล์มด้วยแสงสปอตไลท์ ไม่ว่าจะโดยการให้ผู้บริโภคใช้มืออัง หรือยืนท่ามกลางแสงสปอตไลท์ เป็นวิธีที่สามารถใช้ในการเปรียบเทียบได้ระดับหนึ่ง แต่วิธีดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ว่าฟิล์มนั้นๆ สามารถลดความร้อนจากแสงแดดได้เท่าไหร่ ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงทั้งสองชนิดนี้ มีลักษณะแตกต่างกัน และที่แย่กว่านั้นคือ ฟิล์มกรองแสงที่นำมาทดลองอาจเป็นคนละชนิดกับฟิล์มกรองแสงที่นำมาติดที่รถ ซึ่งในปัจจุบันได้มีอุปกรณ์ทดสอบฟิล์มกรองแสงที่มีค่าการลดความร้อนรวมจากแสงแดดในตลาดมากขึ้น

คุณภาพของฟิล์มกรองแสงทางด้านอื่นๆ

ฟิล์มกรองแสงที่ดีจะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของกาวด้วย กาวที่ดีต้องมีความบางใส และเหนียว เมื่อติดแล้วต้องทนทานต่อสภาวะความร้อนเย็นของกระจกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยึดติดกับกระจกได้ดีไม่ทำให้ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ พอง ลอก ล่อน เป็นฟองอากาศ นอกจากนั้น ฟิล์มที่ดีจะต้องป้องกันรอยขีดข่วน หรือเคลือบสารกันรอยขีดข่วน ฟิล์มกรองแสงทำมาจากโพลีเอสเตอร์ มีจุดอ่อนในเรื่องความอ่อนของผิว ซึ่งมักสามารถเป็นรอยเส้นคล้ายรอยขนแมวได้ง่าย เมื่อมีการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ แต่ปัจจุบันได้มีการคิดค้นสารเคมีที่ทำหน้าที่เคลือบแข็งบนผิวของฟิล์ม ทำหน้าที่ในการป้องกันการขีดข่วนจากการใช้งานปกติ คุณสมบัตินี้ทำให้ฟิล์มมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และดูสวยงามตลอดอายุการใช้งาน
จำไว้ว่าฟิล์มกรองแสงที่ดีไม่ใช่ฟิล์มที่ช่วยลดแสงจ้าได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายในการขับขี่ รวมทั้งช่วยประหยัดพลังงานในการทำงานของเครื่องปรับอากาศในรถด้วย ซึ่งการเลือกฟิล์มที่มีค่า SHADING COEFFICENT (SC) ต่ำๆ ยังมีส่วนช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการปรับอากาศได้ และที่สำคัญต้องเป็นฟิล์มที่มีความปลอดภัยสามารถยืดเกาะกระจกได้
ทุกวันนี้ฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ที่ขายอยู่ในตลาด มีมากมายเกือบ 100 ยี่ห้อ มีทั้งแบบที่มั่นคงถาวร และแบบเวียนว่ายตายเกิด สร้างยี่ห้อออกมาขาย พอขายไม่ได้ก็เปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นฟิล์มตัวเดิม เวลาเลือกจึงต้องระวัง

คำถามที่พบบ่อยสำหรับฟิล์มกรองแสง

อันนี้ต้องลองดูเว็บไซด์ของฟิล์มกรองแสงที่มีให้ทดสอบกันครับ ตัวอย่างเช่น ทดสอบสีฟิล์ม

เป็นตัวเลขที่เรียกความเข้มของฟิล์มกรองแสง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรงในยุดแรก ๆ ที่มีการจำหน่ายฟิล์มกรองแสงในประเทศไทยซึ่งในยุคแรก ๆ ฟิล์มกรองแสงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนั้นจะมีไม่กี่เบอร์ คือ ประมาณ 3-4 เบอร์ เช่น เบอร์ 05 , 20 , 35 , 50 ซึ่งเบอร์นั้น ๆ ตามมาตรฐานสากล จะบ่งบอกถึงค่าที่แสงสามารถส่องผ่านฟิล์มกรองแสงได้ เช่น เบอร์ 05 แสงสามารถส่องผ่านได้ประมาณ 5 %ฟิล์มจะเข้ม 95 % , เบอร์ 20 แสงสามารถส่องผ่านได้ 20 % ฟิล์มจะมีความเข้ม 80 % เป็นต้น ซึ่งในยุคแรก ๆ ทั้งผู้บริโภคและร้านค้ายังไม่ทราบรายละเอียดดังกล่าวจึงใช้การประมาณความเข้มของฟิล์มแทน เช่น เบอร์ 05 แสงผ่านได้ 5 % ฟิล์มจะมีความเข้ม 95 % แต่เรียกฟิล์มเบอร์นี้ว่าฟิล์ม 80 % , เบอร์ 20 แสงส่องผ่านได้ 20 % ฟิล์มจะมีความเข้ม 80 % แต่เรียกฟิล์มเบอร์นี้ว่าฟิล์ม 60 % , ฟิล์มเบอร์ 50 แสงส่องผ่านได้ 50 % ฟิล์มจะมีความเข้ม 50 % แต่เรียกฟิล์มเบอร์นี้ว่า 40 % ซึ่งการเรียกดังกล่าวยังเข้าใจกับผิด ๆ อยู่จนทุกวันนี้ครับ

ฟิล์มกรองแสงทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกันโดยกรรมวิธีการผลิตครับ โดยฟิล์มกรองแสงชนิดธรรมดานั้นจะไม่มีส่วนผสมของโลหะหรือสารพิเศษอื่นใด ซึ่งฟิล์มกรองแสงชนิดนี้จะมีราคาที่ถูกแต่การป้องกันความร้อนจะน้อยแม้ว่าจะมีสีเข้มมากก็ตาม รวมถึงอายุการใช้งานที่ต่ำคือฟิล์มกรองแสงชนิดนี้พอหมดสภาพแล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีม่วง , พองตัว , แห้งกรอบ เหมือนที่ท่านเห็นที่รถบางคันบนท้องถนนนั่นแหละครับ ส่วนฟิล์มชนิดเคลือบโลหะหรือที่เรียกกันว่าฟิล์มปรอทเป็นชนิดเดียวกันครับ ที่เรียกกันว่าปรอทไม่ได้หมายความว่าใช้ปรอทในการผลิตนะครับ แต่เป็นเพราะว่าฟิล์มชนิดนี้จะมีความเงาเป็นพิเศษ ซึ่งในตรง

ส่วนของความเงาก็จะมีความเงามากหรือน้อยแตกต่างกัน โดยในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตก็จะมีอยู่มากมายหลายชนิด เช่น เงิน , ทองแดง , กราไฟท์ เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบแต่ละชนิดจะให้สีสรรที่แตกต่างกัน และฟิล์มกรองแสงประเภทนี้จะมีคุณสมบัติในการลดความร้อนได้ดีกว่าซึ่งถ้าเทียบกับฟิล์มกรองแสงธรรมดาที่มีความเข้มมากเช่นเบอร์ 05 เทียบกับฟิล์มโลหะเบอร์ 50 ฟิล์มเคลือบโลหะยังสามารถลด

ความร้อนจากแสงแดดได้ดีเยี่ยมกว่า และฟิล์มเคลือบโลหะยังมีอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่า ซึ่งอดีตราคาฟิล์มโลหะจะสูงมากและมีตัวเลือกน้อย แต่ปัจจุบันราคาจะไม่สูงเหมือนอดีตและมีให้เลือกกันมากมายหลายยี่ห้อ ลองเลือกใช้ดูนะครับ

ฟิล์มกรองแสงประเภทโลหะจะมีหลากหลายความเข้มและหลากหลายความเงา ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงก็แทบจะไม่มีผลครับเพราะโดยปกติแล้วขอให้ท่านลองสังเกตดู กระจกรถบางคันกสามารถ็สะท้อนแสงมากทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ติดตั้งฟิล์มกรองแสงเลยด้วยซ้ำ ซึ่งมุมในการสะท้อนก็จะต้องขึ้น อยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน เช่น ช่วงเวลา มุมเอียงของกระจกซึ่งมุมเอียงของกระจกนั้นจะยิ่งสังเกตุได้ง่าย โดยถ้าขับรถตามหลังรถบางคันจะเห็นว่ามุมเอียงของกระจกจะไม่เท่ากัน และรถบางประเภทมุมของกระจกแทบจะตั้งฉากเสียด้วยซ้ำ สรุปคือแทบไม่มีผลครับ ฟิล์มประเภทโลหะจะเพิ่มค่าความสะท้อนของแสงขึ้นมาอีกเล็กน้อย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วยครับ

มีการประกาศยกเลิกกฎหมายฟิล์มกรองแสงไปตั้งแต่ปี 2543 แล้วครับดังนั้นจะมืดแค่ไหนก็ไม่มีใครห้าม แต่ควรดูด้านความปลอดภัยในการขับขี่ ส่วนฟิลม์ปรอท มันคือฟิลม์ที่มีโลหะฉาบอยู่ มีลักษณะสะท้อนแสงเหมือนกระจกถ้ามีน้อยๆ สะท้อนแสงน้อยๆ ไม่เป็นไรแต่ถ้ามีเยอะๆ สะท้อนแสงเยอะ

จะเข้าข่ายการติดตั้งฟิล์มกรองแสงที่มีการสะท้อนแสงสูงตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ว่าด้วยเรื่องของส่วนควบที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น

ก่อนอื่นต้องทดสอบดูก่อนว่าไล่ฝ้ายังทำงานตามปกติไหม โดยการเปิดสวิทซ์ไล่ฝ้าสักพักแล้วลองเอามือจับที่กระจกดู ถ้ากระจกร้อนก็แสดงว่าเส้นไล่ฝ้ายังทำงานปกติ ทีนี้ถึงขั้นตอนการลอกฟิล์มกรองแสงครับที่ยุคนี้เป็นยุคสมัยใหม่มีเครื่องมือเครื่องใช้ให้เลือกกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาในการลอกกาว ระบบการทำความสะอาดโดยใช้ไอน้ำหรือสตรีมเมอร์ อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยได้ครับ พอลอกแล้วติดตั้งฟิล์มใหม่เสร็จ ก็ให้ลองการทำงานของเส้นไล่ฝ้าเหมือนเดิมรับรองว่าเส้นไล่ฝ้าเป็นปกติแน่ครับ

สำหรับรอยที่เกิดขึ้นเกิดจากการเลื่อนกระจกขึ้น-ลงครับ แต่ในสภาพการใช้งานตามปกติ ฟิล์มกรองแสงจะสามารถกันรอยขีดข่วนจากสักหลาดของประตูได้อยู่แล้ว แต่บางครั้งที่สักหลาดประตูอาจมีเศษของทรายหรือก้อนกรวดอยู่ ซึ่งพอเลื่อนกระจกขึ้น-ลงแล้ว สารกันรอยขีดข่วนก็ไม่สามารถป้องกันได้ จึงควรหมั่นตรวจตราทำความสะอาดบริเวณสักหลาดให้ดีครับ และอาการลักษณะนี้ที่เกิดขึ้น อยูนอกเงื่อนไขการรับประกันคุณภาพของฟิล์มกรองแสง

คือฟิล์มกรองแสงที่ดี ยิ่งลดความร้อนได้เยอะเท่าไหร่ ระบบการทำความเย็นหรือแอร์ก็ทำงานน้อยลงหรือคอมเพรสเซอร์ไม่ต้องทำงานหนักมากเพื่อให้ได้ความเย็นตามต้องการ ซึ่งระบบแอร์นั้นก็ใช้พลังงานจากการหมุนของเครื่องยนต์ ดังนั้นถ้าแอร์สามารถทำงานได้น้อยลง เครื่องยนต์ก็ทำงานน้อยลงด้วยจึงทำให้สามารถช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และมีของแถมด้วยคือลดรายจ่ายในการดูแลรักษาระบบแอร์ด้วย ทั้งอะไหล่และน้ำยาแอร์ดังนั้นการเลือกใช้ฟิล์มกรองแสงที่ลดความร้อนดี ๆ ก็มีส่วนช่วยในการลดใช้พลังงานและช่วยลดภาวะโลกร้อนไปในตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดี๋ยวนี้ฟิล์มกรองแสงดีๆ มีให้เลือกเยอะและราคาไม่สูงมาก

การติดฟิล์มกรองแสงแบบบานหน้าเต็มบานจะช่วยลดความร้อนที่เข้ามาทางกระจกด้านหน้าของรถยนต์ ลดแสงที่จ้าในเวลากลางวัน กรณีกระจกเกิดแตกขณะขับขี่หรือถูกสะเก็ดหินฟิล์มกรองแสงจะช่วยยึดเศษกระจกไม่ให้แตกกระจาย คือ เศษกระจกแทนที่จะกระเด็นเข้ามาภายในโดยเศษกระจกอาจจะทำอันตรายหรือกระเด็นเข้าตาได้ แต่การติดฟิล์มแบบบานหน้าเต็มก็ไม่ควรที่จะติดฟิล์มที่มีความเข้มมากจนเกินไป เพราะตอนกลางคืนจะขับค่อนข้างยาก และอาจถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ถ้าให้ดีติดฟิล์มที่มีค่าแสงส่องผ่านตั้งแต่ 40 % ขึ้นไปก็ใช้ได้แล้ว

ใช้น้ำยาล้างเล็บลบออกได้เลยครับ แต่ปกติผู้จำหน่ายฟิล์มกรองแสงจะมีน้ำยาลบแถมให้อยู่แล้ว

โดยปกติคราบน้ำดังกล่าวจะหายไปเองในระยะเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าหลังจากที่ได้ติดตั้งฟิล์มกรองแสงแล้ว ฟิล์มกรองแสงที่ติดตั้งโดนแสงแดดมากน้อยเพียงใด ยิ่งโดนมากยิ่งจะทำให้คราบน้ำที่ขังอยู่ระหว่างฟิล์มกรองแสงกับกระจกแห้งเร็วมากขึ้น

ห้ามเลื่อนกระจกขึ้น – ลง หรือ เช็ด ถูฟิล์ม ภายใน 7 วัน หลังจากติดตั้ง เนื่องจากกาวของฟิล์มกรองแสงจะใช้ระยะเวลาในการอยู่ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม เช่น การถูกแสงแดด ควรจะรอให้ครบระยะเวลาก่อนจึงเลื่อนหรือเช็ดกระจกได้

หากมีปัญหาอื่นใด เช่น มีฟองอากาศ หรือ ฟิล์มอ้า ฯลฯ ให้รีบติดต่อศูนย์บริการภายในระยะเวลารับประกัน

ในการทำความสะอาดฟิล์มกรองแสง ควรใช้ผ้าสะอาด ผ้านุ่มหรือฟองน้ำ ร่วมกับน้ำยาทำความสะอาดฟิล์ม เพื่อกำจัดคราบมัน และไม่ควรนำวัสดุที่ลักษณะเป็นของแข็งหรือผิวไม่เรียบเช็ดถูที่กระจกเป็นอันขาด

ห้ามใช้น้ำยาเช็ดกระจกหรือสารเคมีที่มีส่วนประกอบของแอมโมเนีย ( NH4) เพราะอาจทำให้ ชั้นกันรอยของฟิล์มเสียหายได้

ควรหมั่นดูแลรักษาร่องกระจก ไม่ให้มีเศษทรายหรือก้อนกรวดค้างอยู่ในราง เพราะจะทำให้ฟิล์มกรองแสงเกิดความเสียหายได้